FATCA คืออะไร? เเละเกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินของไทยอย่างไร?

สวัสดีครับ เพื่อนๆเคยสังเกตไหมครับว่าเวลาไปเปิดบัญชีกับธนาคาร ซื้อกองทุนรวม ประกัน หรือสินค้าและบริการต่างๆ ของธนาคารจะมีเอกสารชุดหนึ่ง ที่เจ้าหน้าที่ให้เรากรอก ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร ทำไมต้องกรอก เกี่ยวข้องอะไรกับเรา เเล้วเจ้าหน้าที่จะเอาข้อมูลนั้นไปไหน ซึ่งเพื่อนๆอาจไม่รู้มาก่อนเลยว่าถูกตรวจสอบสัญชาติเเล้ว และการตรวจสอบสัญชาตินี้แหละเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายที่เรียกว่า “FATCA”

ก่อนอื่นเลยเราต้องรู้ที่มาของ FATCA ก่อน เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาเผชิญปัญหางบขาดดุล ส่งผลให้สหรัฐฯ จำเป็นต้องเพิ่มจำนวนเม็ดเงินในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ถามว่ารัฐบาลสหรัฐฯจะหาเงินได้จากที่ไหน? คำตอบคือ “ภาษี” ซึ่งในอดีตที่ผ่านมา USA ไม่สามารถเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยจากประชากรของตน โดยเฉพาะชาวอเมริกันที่อาศัยในต่างประเทศ มีเพียงจำนวนน้อยที่จ่ายภาษีกลับสู่สหรัฐอเมริกา ส่งผลให้สหรัฐฯสูญเสียเงินจำนวนนี้ไป นี่จึงเป็นที่มาของ FATCA นั่นเอง

FATCA หรือที่ย่อมาจาก Foreign Account Tax Compliance Act คือกฎหมายที่ออกโดยรัฐบาลของสหรัฐอเมริกาที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการเลี่ยงภาษีของบุคคลและนิติบุคคลชาวอเมริกันในต่างประเทศและเนื่องจาก FATCA เป็นการทำความตกลงระหว่างประเทศ คือระหว่างรัฐบาลสหรัฐฯกับรัฐบาลประเทศอื่นๆ ทำให้สถาบันการเงินทั่วโลกที่เข้าร่วม FATCA มีหน้าที่ 3 ข้อดังนี้

  1. Documentation สถาบันการเงินต้องมีกระบวนการสืบค้น ติดตาม ตรวจสอบและการวิเคราะห์ฐานข้อมูลลูกค้าตั้งแต่การเปิดบัญชีและการทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆอย่างต่อเนื่อง
  2. Withholding สถาบันการเงินมีหน้าที่กระทำแทนรัฐบาลของประเทศสหรัฐอเมริกาในการหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 30
  3. Reporting สถาบันการเงินต้องรายงานข้อมูลดังต่อไปนี้ต่อกรมสรรพากรของสหรัฐฯ
    1. ชื่อ
    2. ที่อยู่
    3. เลขที่ประจำตัวผู้เสียภาษี
    4. เลขที่บัญชี
    5. ชื่อและหมายเลขประจำตัวของสถาบันการเงินในประเทศซึ่งเป็นผู้รายงาน
    6. ข้อมูลตัวเลขจำนวนเงินในบัญชีเเละดอกเบี้ยต่างๆ
      ปัจจุบันมีมากกว่าแปดสิบประเทศทั่วโลกที่ปฏิบัติตาม FATCA

ผลที่ตามมาหากไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดคืออะไร?

หากไม่ปฏิบัติตามและมีการทำธุรกรรม ทางการเงินที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเทศสหรัฐอเมริกาทั้งทางตรงและทางอ้อมจะมีบทลงโทษเป็นการการหักภาษี ณ ที่จ่ายมากถึงร้อยละ 30 ของมูลค่าธุรกรรมทั้งหมด เรียกได้ว่าเป็นจำนวนที่เยอะมากๆเลยทีเดียว และด้วยกระบวนการขั้นตอนของ FATCA ทำให้หลายๆประเทศก็เลือกที่จะ

  • ไม่รับลูกค้าคนใหม่ที่เป็นคนอเมริกา
  • ปิดบัญชีของคนอเมริกาที่มีอยู่ในธนาคารของตน

FATCA คือการตามไล่จับคนร้ายใช่หรือไม่?

ธุรกรรมอะไรก็แล้วแต่ที่เราทำและเกี่ยวข้องข้ามประเทศไปยังสหรัฐอเมริกา เราจะถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นชาวอเมริกัน จากนั้นธนาคารจะตรวจสอบว่าเราเป็นชาวอเมริกันหรือไม่ ซึ่งการตรวจสอบนี้ก็คือเอกสารที่เพื่อนๆ กรอกตอนติดต่อกับธนาคารโดยไม่รู้ตัว เรียกได้ว่าเป็นการสอบปากคำตามหาสัญชาติแบบเนียนๆ กันเลยทีเดียว ซึ่งหากเราไม่ได้เป็นชาวอเมริกัน เราก็รอดตัวและสามารถทำธุรกรรมได้อย่างปกติ แต่หากเรามีสัญชาติอเมริกัน ธนาคารเจ้าของบัญชีจะทำตามกระบวนการของ FATCA ต่อไป

ข้อดี

  • FATCA ช่วยลดการหลีกเลี่ยงภาษีของชาวอเมริกัน
  • ตรวจสอบอาชญากรรมทางการเงินที่เป็นไปได้
  • Exchange of information พันธกรณีในการรับและแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยสหรัฐอเมริกาก็มีหน้าที่ต้องส่งข้อมูลของคนชาติพันธกรณีที่ไปมีบัญชีกับสถาบันการเงินในประเทศสหรัฐอเมริกากลับไปเช่นกัน (ระยะเวลาเป็นรายปีเช่นกัน)

ข้อเสีย

  • สร้างความยุ่งยากรำคาญใจต่อชาวอเมริกันผู้บริสุทธิ์หลายคน
  • อาจทำให้ชาวอเมริกันผู้บริสุทธิ์ที่อยากทำธุรกรรม หรือมีบัญชีกับธนาคารเพื่อผ่อนชำระหนี้ หรือค่าเช่าต่างๆในต่างประเทศ หรือทำ

อะไรก็เเล้วแต่ที่ผ่านธนาคารอาจถูกปฏิเสธจากธนาคารไม่ให้ทำเพียงเพราะเขาเป็นคนอเมริกัน และสิ่งนี้เเหละคือสิ่งที่ FATCA อาจคาดไม่ถึง

ส่วนคนไทยผู้ประกอบอาชีพทั่วไปอย่างเราๆก็ไม่ต้องกังวลไปนะครับ เพราะไม่มีหน้าที่หรือภาระผูกพันอะไรกับ FATCA อ่านไว้เป็นเกร็ดความรู้ก็เพียงพอ แต่หากเพื่อนๆ คนไหนทำงานในสถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ก็อาจต้องศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมเพราะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรง สุดท้ายนี้ผมหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆทุกคนไม่มากก็น้อยนะครับ ขอบคุณครับ

===============

ติดตามช่องทางอื่นของเรา

Facebook Money and Insurance
Line
 : https://lin.ee/cAyHd1Q
Website www.mtl-insure.com
IG : www.instragram.com/mtl_insure
Group : www.facebook.com/groups/190206858958713