ในโลกปัจจุบันนี้ผมเชื่อว่านอกจากเงินเดือนเเล้ว เพื่อนๆหลายคนอาจมีธุรกิจออนไลน์เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการหาเงินไม่ว่าจะใช้เป็นอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมก็ตาม ด้วยความที่โลกหมุนไวมากจึงทำให้กฎหมายตามธุรกิจประเภทนี้ไม่ทัน ส่งผลให้ธุรกิจออนไลน์อยู่นอกระบบภาษี กล่าวคือรัฐสูญเสียรายได้ในการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบธุรกิจนี้ไป
ดังนั้นในปี 2562 ที่ผ่านมาจึงมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องประกาศออกมา และผมคิดว่าเพื่อนๆฃควรศึกษาเรื่องนี้ไว้เพื่อจะได้รู้ว่าตนเองมีหน้าที่ต้องเสียภาษีนี้หรือไม่ และบทความนี้จะมาพูดถึงภาษีธุรกิจออนไลน์กันครับ
ความเป็นมา
พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร หรือที่เรียกกันว่า E-Payment ประกาศเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2562 แต่เริ่มมีผลบังคับใช้จริงแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 63 มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดเก็บภาษี และทำให้ธุรกิจออนไลน์กลับมาอยู่ในระบบภาษี กฎหมายนี้ไม่เพียงแต่มีขึ้นเพื่อตรวจสอบพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เท่านั้น แต่บุคคลธรรมดาทั่วไปอย่างเราที่มีจำนวนครั้งเงินเข้า และจำนวนรายรับตามเกณฑ์ก็จะถูกกรมสรรพากรตรวจสอบเช่นกัน
ธุรกิจออนไลน์อยู่ในรายได้ประเภทไหน
เงินที่เราได้จากการขายของออนไลน์นั้นจัดเป็น “เงินได้พึงประเมิน” (เงินได้อันเข้าลักษณะพึงเสียภาษี) ตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรมาตรา 40 (8) กล่าวคือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ไม่เข้าประเภท 1-7 และไม่ได้รับการยกเว้นภาษี โดยผู้รับเงินตาม (8) ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั่นเอง
ผู้มีหน้าที่แจ้งต่อกรมสรรพากร
พ่อค้า แม่ค้าออนไลน์อย่างเราไม่มีหน้าที่ต้องรายงานต่อกรมสรรพากร แต่ผู้ที่มีหน้าที่รายงานคือ สถาบันการเงิน ธนาคาร และผู้ให้บริการทางการเงิน อาทิ e-wallet เป็นต้น โดยจะรายงานเมื่อตรวจสอบพบว่าบัญชีนั้นๆเข้าเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด และมีความเป็นไปได้ว่าเจ้าของบัญชีนั้นทำธุรกิจออนไลน์
เกณฑ์ในการส่งข้อมูลมีดังนี้
- ทำธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินตั้งแต่ 3000 ครั้งต่อปี รวมทุกบัญชีของผู้ให้บริการ 1 ราย (ไม่ใช่ทุกบัญชีของทุกธนาคารรวมกันนะ) ตัวอย่าง
- คุณมีบัญชีธนาคาร A ทำธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงิน 2900 ครั้งต่อปีและมีบัญชีธนาคาร B ทำธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงิน 1000 ครั้งต่อปี
ธนาคาร A และ B ไม่ต้องรายงานต่อกรมสรรพากร เพราะจำนวนครั้งที่เงินเข้าของคุณไม่เข้าเกณฑ์ และไม่สามารถนำจำนวนครั้งทั้งสองมารวมกันได้ เพราะธนาคารทั้งสองไม่ใช่ผู้ให้บริการรายเดียวกัน
- คุณมีบัญชีธนาคาร A ทำธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงิน 2900 ครั้งต่อปีและมีบัญชีธนาคาร B ทำธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงิน 1000 ครั้งต่อปี
- ทำธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินตั้งแต่ 400 ครั้งต่อปีต่อ 1 ผู้ให้บริการ เเละยอดรวมเงินเข้าตั้งแต่สองล้านบาทขึ้นไปต่อ 1 ผู้ให้บริการ (ต้องครบทั้ง 2 เงื่อนไข) ตัวอย่าง
- คุณมีบัญชีธนาคาร A จำนวนเงินเข้า 500 ครั้ง ยอดรวม 3 ล้านบาท > ต้องรายงาน
- คุณมีบัญชีธนาคาร B จำนวนเงินเข้า 500 ครั้ง ยอดรวม 1 ล้านบาท > ไม่ต้องรายงาน
- คุณมีบัญชีธนาคาร C จำนวนเงินเข้า 300 ครั้ง ยอดรวม 4 ล้านบาท > ไม่ต้องรายงาน
สุดท้ายนี้สิ่งหนึ่งเลยที่คนไทยอย่างเราหลีกเลี่ยงไม่ได้คือการเสียภาษี และภาษีธุรกิจออนไลน์นี้ไม่ได้มีขึ้นเพื่อเรี่ยไรเงินจากประชาชนแต่อย่างใด แต่มีขึ้นเพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์กลับเข้ามาอยู่ในระบบและเสียภาษีอย่างถูกต้อง อีกทั้งเพื่อให้กรมสรรพากรสามารถตรวจสอบและจัดเก็บภาษีได้อย่างครบถ้วน เพราะประชาชนคนไทยทุกคนมีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องเสียภาษีนั่นเอง
สำหรับเพื่อนๆที่ไม่ได้ประกอบธุรกิจออนไลน์ก็ไม่ต้องกังวลไปเพราะไม่ต้องเสียภาษีส่วนนี้ เพียงแต่ประดับความรู้ไว้ก็พอ แต่สำหรับเพื่อนๆที่มีธุรกิจออนไลน์ อย่าลืมไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดนะครับ ผมหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆทุกคนไม่มากก็น้อย ขอบคุณครับ
===============
ติดตามช่องทางอื่นของเรา
Facebook : Money and Insurance
Line : https://lin.ee/cAyHd1Q
Website : www.mtl-insure.com
IG : www.instragram.com/mtl_insure
Group : www.facebook.com/groups/190206858958713